สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียน
โดย..นายธนาคร วันมหาชัย
สิ่งที่พบเจอกันเป็นประจำในสังคมปัจจุบันนี้ จนเกือบจะถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว นั่นก็คือ กรณีที่ชาย-หญิง แต่งงานอยู่กินด้วยกันฉันสามี-ภริยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งบางคู่อยู่กันไม่เท่าไหร่ก็เลิกร้างกันไป บางคู่ก็อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิดปัญหาอะไรมากนัก มีเพียงบางคู่บางกรณีเท่านั้นที่เลิกร้างกัน แล้วมีปัญหาเรื่องทรัพย์สิน เงินๆ ทองๆ และเรื่องของบรรดาลูกๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
กรณีดังกล่าว เรามาดูกันซิว่า ในทางกฎหมาย ท่านว่าไว้อย่างไรบ้าง เรื่องของชาย-หญิงที่อยู่กันด้วยกันฉันสามี-ภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสนั้น กฎหมายไม่ถือว่าเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิและหน้าที่ใดๆ ต่อกัน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนั้นมีลักษณะเป็นเจ้าของรวม มีสิทธิคนละครึ่ง เช่น บ้านที่ร่วมกันซื้อมาก็มีส่วนคนละครึ่ง แล้วต่อมาหากนำไปจำนองกับธนาคาร หนี้ที่เกิดขึ้นก็ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนเท่าๆ กัน กรณีของลูกๆ นั้น ท่านให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้เป็นมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว สิทธิ-หน้าที่การปกครองดูแลตกอยู่กับผู้เป็นมารดาเท่านั้น ส่วนชายผู้เป็นบิดานอกกฎหมายไม่มีสิทธิ-หน้าที่ต่อกัน
เมื่อไม่ใช่สามี-ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย การเลิกร้างกันก็แยกกันอยู่ไปเลยไม่ต้องไปหย่ากันที่อำเภอ ถ้าหากอีกฝ่ายไม่ยอมเลิก ไม่ยอมไปไหนก็ไม่ต้องฟ้องหย่าอะไรกัน เขาไม่ไปเราก็ไปเอง ส่วนในกรณีที่แบ่งทรัพย์สินไม่ลงตัว ตกลงกันไม่ได้อาจขออำนาจศาลช่วยจัดการแบ่งให้ก็ได้
แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายครอบครัวนั้นเป็นกฎหมายส่วนแพ่ง ซึ่งให้สิทธิคู่กรณีตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ หากไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี เช่น ยกให้เธอทั้งหมด ฉันขอไปแต่ตัวอย่างนี้ก็ได้ เพราะกฎหมายมีหลักอยู่ว่า"หากทั้งสองฝ่ายพอใจถือว่า "ยุติธรรม..”
..........................